วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2561

นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา (Flipped Classroom)

Flipped Classroom


          “Flipped Classroom” หมายถึงกระบวนการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่งซึ่งเปลี่ยนการใช้ช่วงเวลาของการบรรยายเนื้อหา (Lecture) ในห้องเรียนเป็นการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อฝึกแก้โจทย์ปัญหา และประยุกต์ใช้จริง ส่วนการบรรยายจะอยู่ในช่องทางอื่นๆ เช่น วิดีโอ วิดีโอออนไลน์ podcasting หรือ screencasting ฯลฯ ซึ่งนักเรียนเข้าถึงได้เมื่ออยู่ที่บ้านหรือนอกห้องเรียน ดังนั้น การบ้านที่เคยมอบหมายให้นักเรียนฝึกทำเองนอกห้องจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในห้องเรียน และในทางกลับกัน เนื้อหาที่เคยถ่ายทอดผ่านการบรรยายในห้องเรียนจะเปลี่ยนไปอยู่ในสื่อที่นักเรียนอ่าน-ฟัง-ดู ได้เองที่บ้านหรือที่ไหนๆ ก็ตาม (Kachka, 2012)  ผู้สอนอาจทิ้งโจทย์ หรือให้นักศึกษาสรุปความเนื้อหานั้นๆ เพื่อตรวจสอบความเข้าใจของนักศึกษา และนำมาอภิปรายหรือปฏิบัติจริงในห้องเรียน



          Flipped Classroom เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการจัดการสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ (learning environment) ท่ามกลางความต้องการที่จะลดอัตราส่วนระหว่างครูกับนักเรียนของการเรียนในห้อง อาจดูเหมือนว่าการสอนแบบ Flipped ท้าทายต่อขนบของการสอนที่ให้ความสำคัญกับการบรรยาย และไม่ให้ความสำคัญกับการบรรยายอีกต่อไป แต่ที่จริงแล้ว Flipped ไม่ได้ต่อต้านวิธีการสอนแบบบรรยาย Flipped Classroom มีหลายรูปแบบและไม่ใช่สูตรสำเร็จ เพียงแต่ Flipped ตั้งคำถามกับการสอนแบบบรรยายที่เป็น teacher-centered lectures และสนใจว่าจะทำให้วิธีการสอนแบบบรรยายมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไรบ้างมากกว่า

          ลองคิดดูว่าในการเรียนที่เน้นการบรรยายและถ่ายทอดเนื้อหาของบทเรียนเป็นหลักนั้น ผู้เรียนจะมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการจดจำในสิ่งที่ผู้สอนถ่ายทอดมากกว่า แต่ในทางตรงข้าม รูปแบบของ Flipped Classroom ที่เน้นกิจกรรมการเรียนรู้ให้ได้ทำกิจกรรมที่เน้นกระบวนการคิดเกี่ยวกับแนวคิดหลักหรือแก่นของความรู้นั้นๆ (core concept) ช่วยให้ผู้สอนทราบว่าผู้เรียนยังต้องการความรู้หรือขาดความเข้าใจในส่วนใด ต้องการคำชี้แนะอย่างไรบ้าง บรรยากาศในห้องเรียนลักษณะนี้ดีกว่าการมุ่งบรรยายสาระความรู้ที่ผู้สอนต้องการให้ครบถ้วนตามแผนการสอนในลักษณะของการสื่อสารทางเดียว แต่ไม่สามารถสร้างส่วนร่วมหรือดึงดูดความสนใจจากผู้เรียน ฉะนั้น เหตุผลประการหนึ่งที่น่าสนใจของ Flipped คือ การเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียน เนื่องจากกิจกรรมที่ให้ฝึกฝนนั้นจะช่วยให้ผู้สอนรู้ feedback ว่านักเรียนมีความรู้ มีทักษะหลังจากการเรียนไปแล้วดังที่คาดหวังไว้หรือไม่ได้เป็นอย่างดี

Flipped classroom: the latest buzz in educational trends?

          แนวคิดเรื่อง Flipped Classroom ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด หากพูดถึงมิติเพียงแค่การให้นักเรียนอ่านเนื้อหาล่วงหน้าและมาทำกิจกรรมในห้อง ลองนึกถึงการเรียนวิชาวรรณกรรมซึ่งนักเรียนต้องอ่านนวนิยายมาก่อนล่วงหน้าแล้วนำมาวิเคราะห์ต่อในห้องเรียน หรือการเรียนวิชาด้านกฎหมายซึ่งนำสิ่งที่อ่านมาแล้วมาอภิปรายต่อในบรรยากาศแบบ Socratic seminar ก็นับได้ว่าเข้าข่ายลักษณะของ Flipped Classroom ได้ในส่วนหนึ่ง (Berrett, 2012) สิ่งที่ Eric Mazur ซึ่งเป็นอาจารย์/นักฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Harvard ใช้วิธีการสอนที่เรียกว่า Peer instruction ที่เน้นการฝึกกระบวนการคิดขั้นสูงมากกว่าการจดจำเนื้อหา และทำมาต่อเนื่องมาแล้วกว่า 21 ปี หรือโครงการ SCALE-UP ที่ North Carolina State University  (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ http://scaleup.ncsu.edu/) ก็สอดคล้องในวิธีการสอนเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งใจและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้เชิงรุก การใช้เทคนิคและเครื่องมือการเรียนรู้ต่างๆ เป็นแนวคิดที่คล้ายกับการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบ Flipped  โดยจุดร่วมของวิธีการสอนเหล่านี้คือการตอบโจทย์ว่าจะทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ในห้องเรียนหรือมีส่วนร่วมในห้องเรียนมากขึ้น (engagement) ได้อย่างไร ผ่านการเรียนรู้เชิงรุก การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative Learning) และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสอนและการเรียนรู้ (ICT for teaching and learning) เป็นต้น




ที่มา : http://celt.li.kmutt.ac.th/km/index.php/get-to-know-flip-classroom/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น