MOOC
MOOCs หรือ Massive Open Online Course คืออะไร?
MOOCs คือรูปแบบของการนำเสนอบทเรียนในวิชาต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตโดยให้ผู้เรียนลงทะเบียนและเรียนรู้แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ และเว็บแอพ-พลิเคชั่น โดยเนื้อหาที่นำเสนอใน MOOCs นั้นเป็นการเน้นโดยตรงไปที่การสอนสำหรับคนกลุ่มใหญ่ ไม่เจาะจงเหมือนการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ต้องวิเคราะห์ผู้เรียนรายคน และ MOOCs ก็ไม่ใช่รูปแบบการบรรยายแบบการเรียนรวมที่มีผู้เข้าฟังบรรยายจำนวนมากแต่ไม่มีการปฏิสัมพันธ์กันเลย แนวทางของ MOOCs อันที่จริงก็ใกล้เคียงกับ E-Learning แต่เดิมนั้น E-Learning ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในรูปแบบการเรียนการสอนทางไกล แล้วจึงค่อยปรับสื่อที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน หรือสื่อการเรียนรู้ (Learning Media) ให้อยู่ในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital Publishing เช่น PDF, PowerPoint, Social Media Channels ไปจนถึงไฟล์ Videos Streaming หรือ Video Tutorials บน YouTube เป็นต้น แต่การทำ E-Learning นั้นก็ยังติดอยู่ในกรอบของสถาบัน หรือผู้สอนอยู่ทางเดียว นั่นคือจะมีแค่นักเรียนในสถาบันที่เรียนอยู่จะรู้จักช่องทางการเข้าถึง E-Learning เฉพาะในสถาบันของตนเพียงแค่นั้น จึงเกิดการรวมระบบของการนำรายวิชาต่างๆ จากผู้สอนที่ทรงคุณวุฒิในสถาบันชั้นนำ หรือสถาบันการศึกษาที่ขึ้นชื่อในศาสตร์แขนงเฉพาะต่างๆ มารวมตัวเปิดสอนบนออนไลน์โดยผู้เรียนสามารถเข้าเรียนได้ฟรี
รายวิชาที่เปิดสอนผ่านระบบออนไลน์บน MOOCs จะไม่จำกัดจำนวนของผู้เรียน เพื่อเน้นการเข้าถึงที่สะดวกผ่านเว็บไซต์ทั้งบนคอมพิวเตอร์พีซี และอุปกรณ์พกพาอย่างแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน เป็นการสร้างนวัตกรรมการศึกษาแบบเสรีที่ใครๆ ก็เรียนได้ เป็นการยกเครื่องรูปแบบการเรียนการสอนให้สูงกว่ารูปแบบ E-Learning หรือการเรียนการสอนทางไกลแบบเก่าให้อยู่ในรูปของระบบเปิดแบบไม่แสวงหาผลกำไร (แต่บางที่ก็มีการแสวงหาผลกำไร เช่น ค่าสมัครเพื่อรับใบประกาศ เป็นต้น) ในปัจจุบัน MOOCs ที่ได้รับความนิยมมากนั้นประกอบไปด้วย EdX หรือ MOOC.org (ของ Google), Coursera, ITunesU, Udemy และบริการอื่นๆ อีกมากมาย
รูปแบบของ MOOCs ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน
การเรียนการสอนผ่าน MOOCs นั้นมีรูปแบบที่เหมือนกับการเรียนการสอนบน E-Learning โดยผู้สอนมีการสร้างเนื้อหาความรู้กระจายส่งให้กับผู้เรียนทางเดียวในระยะเวลาที่จำกัด แต่ต้องมีความพิเศษตรงที่ มีการเก็บผลการสอบก่อนเรียน (ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา) การออกแบบการสอนนั้นต้องมีการวางแผนเพิ่มเข้ามา อีกทั้งเมื่อมีการวางแผนว่าจะนำเสนอบทเรียน และรูปแบบการสอนแบบไหนแล้ว ยังต้องมีการออกแบบฟอร์มของแบบทดสอบ (Assignment) พร้อมระยะเวลาในการส่งผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะเป็นรูปแบบกึ่งบังคับการใช้ Project-Based Learning หรือ Problem-Based Learning ทำให้กิจกรรมการเรียนระหว่างที่ออนไลน์บนระบบของ MOOCs นั้นให้น่าสนใจและสร้างความรู้สึกให้เกิดความสนใจตื่นตัวต่อบทเรียน แล้วจึงค่อยนำผลลัพธ์ก่อนเรียนมาเปรียบเทียบกับผลลัพธ์หลังเรียน
รูปแบบแนวทางการส่งงานของผู้เรียนผ่านระบบ MOOCs นั้นจะมีแนวทางที่น่าสนใจอยู่ส่วนหนึ่งนั่นคือ กระบวนการสร้าง Motivation ระหว่างการเรียนด้วยแอนิเมชั่นและกิจกรรม แล้วค่อยกำหนดการส่งงานเป็นรูปแบบสื่อดิจิทัลโดยส่วนที่ผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาทักษะทางปัญญา (Cognitive Skills) และกระบวนการสร้างสิ่งใหม่ (Create) เพื่อนำเสนอโครงงานของตน ในรูปแบบสื่อดิจิทัล เช่น Blogs, Website, Videos Content, Infographics หรือสื่อรูปแบบอื่นๆ (เช่น เกม, โปรแกรม, แอพพลิเคชั่นพัฒนาขึ้นมาตามวัตถุประสงค์ของงาน)
องค์ประกอบสำหรับออกแบบ MOOCs ให้น่าสนใจ
การออกแบบ MOOCS ให้น่าสนใจต่อผู้เรียนที่มีจำนวนมาก โดยที่เราจะไม่สามารถไปลงลึกวิเคราะห์ผู้เรียนแต่ละคนได้นั้นต้องใช้รูปแบบการนำเสนออื่นๆ มาช่วยให้การเรียนด้วยตนเองของผู้เรียนเกิดประสิทธิภาพ โดยองค์ประกอบที่จะทำให้ห้องเรียนออนไลน์ และเนื้อหาที่นำเสนอใน MOOCs นั้นเกิดการโต้ตอบกับผู้เรียนคือ วิดีโอ เนื้อหา ช่องทางการโต้ตอบสำหรับสอบถาม Discuss และแบบทดสอบ Quiz หรือ Assignment แบบ Online
เนื้อหาที่ปรากฏในวิดีโอของรายวิชาใน MOOCs นั้นต้องเป็นรูปแบบ Custom Content ที่ออกแบบ และตัดต่อการนำเสนอให้เข้าใจง่ายแบบ How To การทำงานเป็นขั้นตอน Compare เปรียบเทียบหรือแบบ Infographic ประกอบการบรรยาย โดยเนื้อหาในวิดีโอนั้นไม่ควรเกิน 15 นาที และควรจะเข้าเรื่องการนำเสนอให้ตรงประเด็นชัดเจนตั้งแต่ช่วงแรก และตัวอย่างการปรับใช้เนื้อหาเชิงประยุกต์ในช่วงหลัง หรือการทดลองทำ โดยมีเอกสารประกอบออนไลน์ให้ดาวน์โหลดหรือใช้อ่านประกอบปรากฏอยู่ด้านข้างๆ อาจจะเป็น Google Slide หรือ Slide Shares ก็ได้ เสร็จแล้วให้ใช้แบบการทดสอบกิจกรรมออนไลน์ให้ทำงานกลุ่มและนำเสนอผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
ซึ่ง MOOCs บางระบบจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยให้ ผู้เรียนที่ต้องทำ Project หรือโครงงานร่วมกัน Join หรือเข้าร่วมกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มโดยมีผู้สอนที่คอยสอดส่องและควบคุมการสนทนาในกลุ่มย่อยได้อย่างสะดวก ตลอดระยะเวลาในการ Assign ตัวงานให้ทำกัน สุดท้ายงานที่ผู้เรียนจะนำเสนอได้นั้นประกอบไปด้วย YouTube Videos, Blog หรือรูปแบบการนำเสนออื่นๆ ที่น่าสนใจปรากฏขึ้นมาในระบบ
หลังจากนั้น รูปแบบการนำเสนอต่อเนื่องจากวิดีโอคือ ช่วงของการพูดคุยสนทนาผ่านระบบการตอบรับ หรือ Comments Feed ที่แต่ละระบบจะมีอยู่ (เหมือนพูดคุยใน Facebook Group ซึ่ง Facebook Group สามารถนำมาเป็น MOOCs ตัวหนึ่งได้เช่นกัน) กลไกการถามตอบใน MOOCs นั้นจะทำให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์จากผู้เรียน อีกทั้งยังสามารถเพิ่ม Collective Intellogence หรือปัญญาสะสมในกลุ่มอีกด้วย
เมื่อจบการเรียนผ่านระบบ MOOCs แล้ว ผู้สอนจะต้องออกแบบ Post-Test หรือแบบประเมินผลการเรียน หรือผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนทั้งหมดด้วยแบบทดสอบออนไลน์ และสุดท้ายของที่สุด อย่าลืมให้ผู้เรียนประเมินตนเองผ่านระบบ Questionnaire ของ MOOCs เพื่อที่ผู้สอนในห้องเรียนจะได้นำข้อเสนอแนะและแบบประเมินไปปรับปรุงการสอนผ่านระบบ MOOCs ให้ดีขึ้น
ที่มา : https://www.digitalagemag.com/moocs
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น